Salmonella ศัตรูตัวฉกาจของลำไส้

Last updated: 5 ก.ค. 2564  |  529 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เด็ก_ปวดท้อง_Salmonella

เชื้อซาลโมเนลลา (Salmonella) เป็นแบคทีเรียแกรมลบ รูปร่างแบบท่อน จะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับเชื้อ อีโคไล (E. coli) และชิเกลล่า เนื่องจากซาลโมเนลลาเป็นหนี่งในเชื้อแบคทีเรียตระกูลเอนเทอโรแบคทีเรียซีอี (Enterobacteriaceae) ที่ถูกค้นพบโดย Denial Elmer Salman นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน ซึ่งได้มีการถูกค้นพบมากว่า 125 ปี แล้ว

ซาลโมเนลล่า (Salmonella) เคลื่อนที่โดยใช้แฟลเจลลา (Flagella) เจริญได้ดีในอุณหภูมิที่ปานกลาง (Mesophilic bacteria) และเจริญได้ดีในอุณภูมิร่างกายของมนุษย์และสัตว์เลือดอุ่น อุณภูมิที่ต่ำที่สุดและสูงที่สุดที่สามารถเจริญได้คือ 5.2 องศาเซลเซียส และ 54 องศาเซลเซียส ซึ่งนอกจากนี้ยังสามารถเจริญได้ทั้งภาวะที่มีอากาศและไม่มีอากาศ จึงพบได้ในอาหารที่บรรจุในบรรจุภัณฑ์สุญญากาศ (Vacuum Packaging) ทั้งนี้เชื้อซาลโมเนลล่าสามารถทนความร้อนแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิด สายพันธ์ และปัจจัยภายนอก

อาการ

การติดเชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลา (Salmonella) อาจใช้เวลานานหลายชั่วโมงจนถึง 2 วัน จึงจะปรากฏอาการของโรค เช่น

  • ปวดท้อง
  • ท้องเสีย (อาจมีเลือดเจือปนในบางกรณี)
  • อาเจียน
  • ปวดศีรษะ
  • เป็นไข้ หนาวสั่น
  • เบื่ออาหาร

โดยปกติแล้วอาการของการติดเชื้อ จะคงอยู่ประมาณ 2-7 วัน ส่วนอาการท้องเสียจะสามารถอยู่ได้ถึง 10 วัน ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าที่ลำไส้จะกลับมาทำงานปกติ

อย่างไรก็ตาม อาการนี้ก็จะขึ้นอยู่กับสุขภาพของผู้ได้รับเชื้ออีกด้วย หากว่าสุขภาพดีมาก อาจจะมีมีอาการใดๆเลยก็เป็นได้ หรืออาจจะมีอาการเพียง 2-3 วัน และสุดท้ายก็หายเองได้ โดยที่ไม่ต้องเข้ารับการรักษา

ทั้งนี้หากมีอาการผิดปกติติดต่อกันนานเกิน 7 วัน และเคยทำการพบแพทย์ไปแล้ว ก็ควรที่จะไปพบแพทย์ซ้ำ เนื่องจากสภาพร่างกายของแต่ละคน มีสภาพที่ไม่เหมือนกัน ยิ่งเป็นเด็กและผู้สูงอายุก็จะยิ่งมีภูมิที่ต่ำกว่าผู้ที่มีสุขภาพดี

สาเหตุของการติดเชื้อ

ซาลโมเนลลา (Salmonella) เป็นแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ของมนุษย์หรือสัตว์ซึ่งจะสามารถปะปนออกมากับอุจจาระได้ ซึ่งโดยมากสามารถเกิดได้จากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนแบคทีเรีย ซึ่งอาจจะมีปัจจัยที่อาจจะก่อให้เกิดการติดเชื้อได้อีก ดังนี้

- เนื้อดิบ

ในที่นี้กล่าวรวมถึงเนื้อวัว, เนื้อไก่ และเนื้อหมู ซึ่งอาจจะปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียจากการผลิตได้

- ไข่ดิบ

การรับประทานไข่ดิบที่มีส่วนผสมจะถือเป็นความเสี่ยงมาก หากไข่ดิบไม่ได้การผลิตที่มีคุณภาพ หรือมาตรฐานในการควบคุมเชื้อที่ดี เนื่องจากแม่ไก่ที่มีเชื้อแบคทีเรียแซลโมเนลล่าอาจส่งผ่านเชื้อไปสู่ไข่ไก่ตั้งแต่เปลือกไข่ยังไม่ก่อตัวเลย

- ผักและผลไม้

ผักและผลไม้อาจจะปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียได้จากกระบวนการจัดเก็บ ซึ่งสามารถหลีกเลี่ยงได้ง่ายๆเพียงทำการล้างให้สะอาด จนมั่นใจว่าปลอดเชื้อ จึงจะสามารถรับประทานได้

- สัตว์เลี้ยง

ในบางครั้งสัตว์เลี้ยงของเราไม่ว่าจะเป็นสุนัข หรือ แมว อาจจะมีเชื้ออยู่ แล้วเราไม่ทราบ ซึ่งเราอาจจะไปจับสัตว์เลี้ยงของเรา และไม่ได้ทำการล้างมือให้สะอาด จนสุดท้ายนำมือเข้าปากอย่างไม่ตั้งใจ ก็อาจจะมีโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อไปได้

การรักษา

การรักษา Salmonella สามารถทำได้หลายวิธี และขึ้นอยู่กับอาการของผู้ที่ได้รับเชื้อ ซึ่งโดยมากก็จะสามารถดูแลรักษาอาการเบื้องต้นที่บ้านได้ เนื่องจากผู้ที่ติดเชื้อโดยมากจะมีการท้องเสียเป็นหลัก ซึ่งอาจจะเกิดภาวะขาดน้ำได้ง่าย ดังนั้นผู้ที่ติดเชื้อก็ควรที่จะดื่มน้ำเกลือเพื่อไปชดเชยกับน้ำที่สูญเสียไป

หากอาการที่เกิดขึ้นมีความรุนแรง อาจต้องการได้รับรักษาที่โรงพยาบาลโดยการให้ของเหลวผ่านทางหลอดเลือด หรืออาจะรักษาเพิ่มเติมได้ดังนี้

- ใช้ยาแก้ท้องเสีย เช่น ยาโลเพอราไมด์เพื่อช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย แต่ยาอาจทำให้อาการท้องเสียที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียแซลโมเนลล่าหายช้าลง หรืออาจเกิดผลข้างเคียงอื่นได้ จึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ อย่างเคร่งครัด

- ใช้ยาปฏิชีวนะ หากอาการที่เกิดขึ้นมีความรุนแรง หรือผู้ป่วยมีปัญหาบกพร่องด้านภูมิคุ้มกัน หรือมีความเสี่ยงที่เชื้อ Salmonella จะเข้าสู่กระแสเลือด แพทย์อาจจะใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย

การป้องกัน

เชื้อแบคทีเรียอาจแฝงอยู่ได้หลายที่ตามที่ได้กล่าวข้างต้นในสาเหตุการติดเชื้อ ดังนั้นการป้องกันที่มีประสิทธิภาพคือ

  • การล้างมือด้วยสบู่หลังทำกิจกรรมต่างๆ 
  • ห้ามรับประทานอาหารที่ยังไม่สุก
  • ล้างผักและผลไม้จนมั่นใจว่าสะอาด ปลอดเชื้อ จึงจะสามารถรับประทานได้
  • แยกเนื้อดิบออกจากวัตถุดิบในการทำอาหารอื่น ๆ
  • ทำความสะอาดบริเวณครัวที่มีการสัมผัสอาหารดิบอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากอาจมีเชื้อแซลโมเนลล่าปนเปื้อนอยู่บริเวณนั้นได้
  • ล้างภาชนะที่ใส่ไข่ดิบ หรือเนื้อดิบให้สะอาด

อ้างอิง

https://www.pobpad.com/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%8B%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B9%82%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%A5%E0%B8%A5%E0%B8%B2


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้